พนักงานแบงก์ระส่ำ !! รับ ยุคดิจิทัลทางการเงิน

ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมากระแสบริการทางการเงินในระบบดิจิทัลเติบโตอย่างต่อเนื่องตามการพัฒนาระบบเทคโนโลยีทางการเงิน หรือ ฟินเทค ความนิยมในการทำธุรกรรมทางการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ไม่ว่าจะเป็น โอน ฝาก ชำระค่าบริการต่างๆ เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด


 พนักงานแบงก์ระส่ำ !! รับ ยุคดิจิทัลทางการเงิน
โดยตัวเลขจากธนาคารแห่งประเทศไทยพิสูจน์ได้ว่าภายในช่วง เวลา 6 ปี (2553-2558) มีจำนวนบัญชีอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งเพิ่มขึ้นจาก 4.82 ล้านบัญชีเพิ่มเป็น 11.96 ล้านบัญชี และช่วงไตรมาสสามปี 2560 มีผู้ลงทะเบียนใช้อินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งและโมบายแบงก์กิ้ง 35 ล้านบัญชี จากจำนวนลูกค้าเงินฝากทั้งระบบประมาณ 90 ล้านบัญชีโดยคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี 

แต่สิ่งที่สวนทางและได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเข้ามาของอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งและโมบายแบงก์กิ้ง  คือ สาขาของธนาคารที่ทยอยลดลงซึ่งนั่นหมายความว่าจำนวนพนักงานก็ต้องลดลงด้วยและผลกระทบตรงนี้มีสัญญาณชัดขึ้นมากตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

แต่ที่ดูเหมือนจะสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดกระแสตื่นตัวมากที่สุดคือการออกมาประกาศของ นายอาทิตย์ นันทวิทยา CEO ธนาคารไทยพาณิชย์หรือ SCB ว่า

SCB จะลดสาขาจาก 1,200 เหลือเพียง 400 สาขา พนักงานจาก 27,000 คนเหลือ 15,000 คน (รวมพนักงานที่จะเกษียนอายุด้วย) ภายในปี 2020

นับเป็นธนาคารแรกๆ ที่ ประกาศชัดและกำหนดให้เป็นนโยบายในการบริหารองค์กรการเงินเพื่อปรับตัวให้ทันกับยุคดิจิทัลโดยเขามองว่า เทคโนโลยีใหม่ๆ คนใช้งานธนาคารจากที่ไหนก็ได้ในฝ่ามือ สาขาของแบงค์ก็ไม่สำคัญเท่าเมื่อก่อน และเทคโนโลยียังทำให้ค่าธรรมเนียมธนาคารลดลง รายได้ก็ลดลง ธนาคารก็ต้องปรับตัว โดยเฉพาะธนาคารใหญ่ที่แบกรับต้นทุนไว้มาก


ตัวเลขจากธนาคารแห่งประเทศไทยแสดงให้เห็นว่าช่วงปี 2559 ถึง ไตรมาสสองปี 2560 ธนาคารลดจำนวนพนักงานลงมากกว่า 1,300 คน จาก 154,490 คน เหลือ 153,139 คน ขณะที่ การลดจำนวนสาขาของธนาคารในปี 2560 ก็นับว่ามากที่สุดในประวัติการณ์ คือ 204 สาขาในช่วง 6 เดือน (ม.ค.-พ.ย.60) จาก 7,004 สาขา เหลือ 6,800 สาขา โดย 5 อันดับที่มีการปิดจำนวนสาขามากที่สุด คือ ธนาคารกรุงไทย 91 สาขา ธนาคารกสิกรไทย 74 สาขา ธนาคารธนชาต 59 สาขา ธนาคารทหารไทย 20 สาขา และธนาคารซีไอเอ็มบีไทย 5 สาขา

และคาดว่าในอนาคตอันใกล้เราก็คงได้เห็นการลดลงของสาขาธนาคารอีกเรื่อยๆ ซึ่งจะสวนทางกับยอดการเติบโตของธุรกรรมทางการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) อย่างแน่นอน

ความคิดเห็น